ถ้า HR อย่างเรา ยังคิดว่า Blockchain เป็นเรื่องของคนในสายการเงิน ลองฟัง จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์ เล่าเรื่อง Blockchain ให้ฟังในภาษาง่ายๆ แล้วดูซิว่าเรายังคิดว่า Blockchain ไม่เกี่ยวกับ HR อยู่อีกหรือไม่
มาถึงวันนี้ คำว่า Blockchain น่าจะผ่านหูผ่านตา พวกเรามาบ้าง แต่ระดับความเข้าใจมากน้อยต่างกันก็คงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เพราะนึกภาพสมัยที่ internet เข้ามาในชีวิตเราใหม่ๆ เราก็ยัง งงๆ ว่าจะใช้มันทำอะไร ยิ่งช่วงที่เป็น dial-up แรกๆ ผมงงกระทั่งว่า ต่อ internet แล้วยังต้องมา log-in email อีกหรอ ผมเองเปรียบเทียบ Blockchain กับ internet เพราะ Blockchain ไม่ใช่เป็น program หรือ application ใหม่ แต่เป็นระดับ infrastructure กันเลย และ Blockchain จะเปลี่ยนอะไรหลายๆอย่างในระดับมหภาค เพราะมัน decentralize ทุกอย่าง และจะทำลายล้างกำแพงตัวกลางลง ผมขอยกคำอธิบายการทำงานของ blockchain ที่เห็นภาพและเข้าใจง่ายๆสำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับคำๆนี้ จากบทความของคุณศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ Blockchain Evangelist รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มาทั้งท่อนดังนี้
‘ห้องนักเรียนมีคนอยู่ 30 คนถ้าเราจะเลือกตั้งหัวหน้าโดยมีคนเสนอ มา 2 คน เราก็จะเอากล่องมาตั้งกลางห้องให้แต่ละคนหย่อนกระดาษเขียนเบอร์ที่ตัวเองเลือก พอหย่อนครบก็ต้องหาตัวแทนมานับคะแนน แบบนี้เรียกว่า centralized หรือรวมศูนย์ ซึ่งเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย ต้องอาศัยคนมานับตรงกลาง ซึ่งจะซื่อสัตย์หรือไม่ก็ไม่รู้
เอาใหม่เปลี่ยนวิธีการใหม่ คน 30 คน แต่ละคนจะได้กระดาษคนละ 30 ใบ ทุกคนเขียนชื่อตัวเองลงไปพร้อมกับปั้มลายนิ้วมือกับเบอร์ที่ตัวเองเลือกทั้ง 30 ใบ เขียนเสร็จแล้วให้เอาไปให้คนอีก 29 คนคนละใบและเก็บไว้เอง 1 ใบ ทุกคนแลกกันจนเสร็จ เมื่อเสร็จแล้วแต่ละคนจะมีกระดาษ 30 ใบ แล้วทุกคนก็นับคะแนนจากกระดาษ 30 ใบได้มาจากคน 29 คนและของตัวเองอีก 1 ใบ แล้วทุกคนก็ประกาศคะแนนออกมาทีละคนจนครบ 30 คน โดยทฤษฎีถ้าเขียนถูกหมดและนับถูกทุกคน ผลจะต้องเท่ากัน แต่ถ้าเกิดข้อผิดพลาดสามารถเอากระดาษมาตรวจสอบกับอีก 29 คนได้ การดำเนินการแบบนี้เรียกว่าการดำเนินการแบบ decentralize หรือกระจายศูนย์’
ตัวอย่างของการใช้ Blockchain ที่เราเห็นกันอย่างแพร่หลาย คือ cryptocurrency ที่สามารถเกิดธุรกรรมได้โดยไม่ต้องมีตัวกลางอย่างธนาคารและธุรกรรมเกิดบนเครือข่ายแล้วกระจายไปเก็บหลายๆที่บนเครื่องเครือข่าย จึงเป็นที่มาของคำว่า Blockchain technology เพราะข้อมูลถูกร้อยเรียงเป็นลูกโซ่ ซึ่งทำให้โอกาสที่จะเกิด fraud แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะข้อมูลถูกเข้ารหัสและถูกเก็บกระจายไปในหลายๆที่ ซึ่งต่างจากธุรกรรมการเงินแบบปัจจุบันที่เก็บข้อมูลที่ตัวกลางคือธนาคารดังนั้นหาก hacker สามารถเจาะระบธนาคารได้ก็เข้าไปจัดการ hack ข้อมูล หรือ ทำธุรกรรมโกงต่างๆได้
ซึ่งประโยชน์ของเจ้า Blockchain ไม่ได้มีการใช้งานแค่ในวงการการเงิน แต่มีการกระจายไปสู่ระบบ supply chain และแน่นอนว่า ในด้าน Human Resource Management ก็มีการนำ Blockchain มาใช้หรือมีความคิดว่าจะนำมาใช้ได้ในหลายส่วน
Recruitment Process
Blockchain จะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนของการ recruitment ให้เร็วและสะดวกขึ้นแล้ว ทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบข้อมูล เพราะเทคโนโลยี Blockchain จะแก้ปัญหา เรื่อง certification ต่างๆ, เพิ่มความโปร่งใส และตรวจสอบ fraud ของคุณสมบัติและประวัติต่างๆที่ระบุมาใน CV ได้ เนื่องจากฐานข้อมูลใน Blockchain มีความน่าเชื่อถือสูง ยกตัวอย่างเช่น ด้านคุณสมบัติทางการศึกษา ปัจจุบันก็มีหลายสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่เริ่มมีการจัดเตรียม certificate ไว้บน Blockchain ซึ่งหมายความว่าประวัติด้านการศึกษา ที่ถูกบันทึกจะได้รับการ validate จากทางมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้ ผู้ที่จะจ้างงานมีความมั่นใจในวุฒิการศึกษาที่ระบุมาว่าเป็นของจริง ซึ่งตรงนี้ช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการที่จะต้องติดต่อไปทางมหาวิทยาลัยเพื่อขอเอกสารยืนยันวุฒิการศึกษา หรือ จะเป็นการตรวจสอบการบันทึกเรื่อง achievement ต่างๆจากองค์กรที่ทำงานก่อนหน้า เช่น แคนดิเดทเคลมว่าได้ทำให้ performance ในองค์กรที่ทำงานก่อนหน้านี้พัฒนาขึ้น 25% ทาง นายจ้างก็สามารถเข้ามา validate ข้อมูลดังกล่าวได้ก็จะสร้างความมั่นใจในความสามารถของบุคคลคนนั้นได้มากขึ้น ดังนั้นในส่วนนี้นอกจาก Blockchain จะทำให้รูปแบบงาน recruitment ของ HR ในองค์กรเปลี่ยนไปแล้ว outsource service ที่เกี่ยวกับการ recruitment อย่าง search firm ทั้งหลาย ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเพื่อเพิ่มคุณค่าให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะหมายรวมไปถึง social media ที่ใช้ในวงการหางานอย่าง LinkedIn เองก็คงจะต้องปรับตัว อาจจะต้องเพิ่มบริการ validate ข้อมูลให้ว่าข้อมูลแต่ละท่านที่เขียนคุณสมบัติตัวเองบน LinkedIn นั้นมีความถูกต้องน่าเชื่อถือกี่เปอร์เซนต์ เป็นต้น
Payroll
ในองค์กรที่เป็นผู้เล่นในระดับ regional หรือเป็น global organization จะสามารถลดค่าธุรกรรมและขั้นตอนต่างๆของตัวกลางที่เป็นธนาคารในการโอนเงินข้ามประเทศลงไปได้มากรวมไปถึงค่าใช้จ่าย admin ต่างๆทางด้าน payroll ด้วย ซึ่งจริงๆแล้วนอกจากประหยัดรายจ่าย ยังประหยัดเวลา เพราะมีความรวดเร็วมากกว่า นอกจากนั้นยังมั่นใจได้ถึงความถูกต้องว่าส่งไปถูกที่ถูกเวลา ยิ่งไปกว่านั้นในองค์กรที่มีขนาดใหญ่มากๆอาจจะสามารถสร้างสกุลเงิน cryptocurrency ของตัวเองขึ้นเพื่อใช้ในธุรกรรมภายในพวก payroll หรือใช้เป็นสกุลเงิน cryptocurrency ที่ใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคได้ด้วย ยกตัวอย่างใกล้ตัว เช่น JayMart ได้เข้าสู่วงการ cryptocurrency แล้วโดยออก ICO (Initial Coin Offering) ชื่อ JFin Coin เมื่อต้นปี 2561 โดยใช้ซื้อขายสินค้าบน Jaymart Digital Store แล้ว ใครจะรู้ว่าอีกไม่นานเมื่อกฎหมายและกฎ กลต. ยอมรับให้ใช้ cryptocurrency ในการทำธุรกรรมในไทยได้คล่องตัวแล้ว พนักงานของ JayMart ทุกคนอาจจะได้รับเงินเดือนเป็นสกุลเงิน JFin ก็เป็นได้
Cyber Security
Blockchain เป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงมากเพราะมีการเข้ารหัสข้อมูลในการส่งต่อ ดังนั้นจึงสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความ sensitive ได้ และเนื่องจากมีการเก็บแบบ decentralize ในหลายที่ดังนั้นโอกาสที่จะถูกใครแก้ข้อมูลเป็นไปได้ยาก ดังนั้นก็มั่นใจได้ว่า การแก้ไขข้อมูลต่างๆจะถูกแก้ไข โดย authorized parties เท่านั้น ซึ่งจะรวมไปถึงการทำธุรกรรมสัญญาต่างๆทั้งกับบุคคลและกับ contractor ที่ว่าจ้างมาทำงานก็จะมีทั้งความถูกต้องและความปลอดภัยของข้อมูล
ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพคนในองค์กรให้มากขึ้น เพราะเราสามารถเลือก the right man for the right job ได้เร็ว สะดวก เพราะBlockchain สามารถทำให้ การ verify บุคลากรที่ตรงกับงานใน recruitment process ได้ทั้งบุคคลภายในองค์กรและภายนอกองค์กร รวมไปถึงกลุ่ม freelance ที่คนรุ่นใหม่นิยมเป็นกัน ก็สามารถตรวจสอบได้เร็วและทำธุรกรรมได้ปลอดภัยถูกต้องจาก cyber security ที่ดีของ Blockchain
จริงๆแล้วเราเชื่อว่า ศักยภาพของ Blockchain จะทำอะไรได้อีกมาก ด้วยความที่เป็นระบบ decentralize ทำให้จัดการลดขั้นตอนตัวกลางลงไปได้และมีความปลอดภัยสูง แต่เนื่องจากปัจจุบัน Blockchain ยังคงอยู่ในช่วงตั้งไข่ เหมือนสมัย internet แรกๆที่เรากใช้แต่ส่ง email กว่าจะถึงจุดที่เราได้รู้ว่า internet สามารถเข้ามาแทรกซึมได้ทุกจุดในชีวิตก็ต้องใช้เวลาอีกสักพัก ศักยภาพอื่นๆที่ผมคิดว่า Blockchain จะเข้ามาช่วยในด้าน HR ในอนาคตอันใกล้ก็ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันที่เราทำ Performance Evaluation หรือ การประเมินแบบ 360 องศา เพื่อทำการปรับเงินเดือน หรือโปรโมทต่างๆที่ยังมีข้อครหาถึงความลำเอียง ซึ่งนั่นเป็นเพราะเรายังสามารถเลือกคนประเมินได้ซึ่งก็อาจจะมีการซูเอี๋ยกัน ซึ่ง Blockchain จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ เพราะมัน decentralize ทำให้เราอาจจะใช้ 360 องศาโดยไม่ต้องเลือกกลุ่มตัวอย่างแต่ทำทุกคน เป็นต้น
สุดท้ายอย่าได้ดูถูกความสามารถของ Blockchain เหมือนที่ Paul Krugman เคยพูดถึง internet ไว้ในปี 1998 ว่า “The growth of the Internet will slow drastically, as the flaw in ‘Metcalfe’s law’—which states that the number of potential connections in a network is proportional to the square of the number of participants—becomes apparent: most people have nothing to say to each other! By 2005 or so, it will become clear that the Internet’s impact on the economy has been no greater than the fax machine’s.”
จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์
Comments